วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

❀ การขนส่งผู้โดยสารด้วยรถยนต์

     การขนส่งผู้โดยสารด้วยรถยนต์ เป็นการเคลื่อนย้ายบุคคลด้วยรถยนต์ซึ่งวิ่งบนถนน มีผู้กล่าวว่า "ถนนและรถยนต์เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงอารยธรรมท้องถิ่นนั้นเป็นอย่างดีว่ามีความเจริญแค่ไหน หากท้องถิ่นใดไม่มีถนนที่จะให้รถวิ่ง ก็แสดงว่าประชากรในท้องถิ่นนั้นอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง ไม่มีการติดต่อระหว่างกันและกัน นับว่าประชากรในท้องถิ่นนั้นห่างไกลความเจริญ รัฐบาลจึงสร้างถนนขึ้น อันเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์โดยสารมาให้บริการบุคคลที่จะเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง


วิวัฒนาการของการขนส่งผู้โดยสารด้วยรถยนต์เพื่อการท่องเที่ยว
     ในศตวรรษที่ 15 เกิดการใช้รถม้าเทียม จนกระทั่ง ค.ศ. 1776 เจมส์ วัตต์ ได้ประดิษฐ์ เครื่องจักรไอน้ำขึ้นเป็นผลสำเร็จ และนายนิโคลาส คุโยค์ นำเครื่องจักรไอน้ำมาใช้กับรถยนต์ จนเมื่อ ค.ศ. 1896 นายเฮนรี่ ฟอร์ด ได้ประดิษฐ์รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาป ทำให้เกิดการขนส่งผู้โดยสารด้วยรถยนต์อย่างใหญ่หลวง

เจมส์ วัตต์
     ในด้านวิวัฒนาการของถนนนั้น แต่เดิมถนนเป็นเพียงทางเท้า มีการบดหินที่แตกหักให้เป็นผิวทาง และขุดร่องคูเพื่อช่วยระบายน้ำ ซึ่งถนนได้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 1,000 ปีมานี้ กษัตริย์ "ดารายุส" แห่งเปอร์เซียเป็นผู้สร้างถนนในราชอาณาจักรเพื่อใช้เป็นทางม้าเร็วในการส่งข่าวสาร ต่อมากษัตริย์ราชวงศ์จิ้นของจีน ได้สร้างถนนขนาดใหญ่เพื่อใช้เดินทางไปปราบกบฏ ในสมัยอาณาจักรโรมัน ได้สร้างถนนที่แข็งแรงเพื่อประโยชน์ทางการทหาร การปกครอง และการพาณิชย์ ซึ่งในสมัยเมโสโปเตเมีย มีถนนสำหรับค้าขายระหว่างประเทศ แต่ต่อมาเมโสโปเตเมียเสียอำนาจแก่เปอร์เซีย ถนนสายนี้จึงได้รับขนานนามว่า ถนนกษัตริย์ (Royal Road)
     ต่อมาวิวัฒนาการเป็นถนนลาดยางและคอนกรีต ซึ่งเรียกว่าถนนแบบแมคคาดัม ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น การขนส่งผู้โดยสารด้วยรถยนต์มีความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในด้านความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการเดินทาง ซึ่งรถยนต์ที่ผลิตออกมารุ่นใหม่มีความสวยงาม มีประสิทธิภาพในการใช้งานสูง ประหยัดพลังงาน เช่น รถไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์



การขนส่งผู้โดยสารด้วยรถยนต์ของประเทศไทย
     เริ่มมีรถยนต์คันแรกในสมัย ร.5 โดยเป็นของพระยาสุรศักดิ์มนตรี ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2447 มีรถยนต์พระที่นั่งขึ้นเป็นครั้งแรก โดยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตราพระราชบัญญัติรถยนต์ฉบับแรกขึ้น ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่  1 เมษายน 2449
     พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) เป็นผู้ริเริ่มรถโดยสารประจำทางซึ่งเรียกว่า (รถเมล์) เป็นครั้งแรก ส่วนแท็กซี่หรือรถยนต์นั่งรับจ้างพระยาเทพหัสดินได้ใ้ห้ลูกหลานเอารถยนต์มาวิ่งรับจ้างเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2467 โดยติดป้ายรับจ้างไว้ ซึ่งเรียกว่า รถไมล์ 
  

ข้อได้เปรียบและเสียเปรียบของการขนส่งผู้โดยสารด้วยรถยนต์
  • หน่วยของกิจการขนส่งผู้โดยสารด้วยรถยนต์มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับการขนส่งผู้โดยสารประเภทอื่น
  • การขยายงานทำได้ง่าย
  • การดำเนินงานไม่ยุ่งยากนัก
  • มีความคล่องตัวและสะดวกรวดเร็วในการขนส่ง
  • สามารถให้บริการถึงที่แบบประตูบ้านสู่ประตูบ้าน
  • ต้นทุนการส่งระยะใกล้ต่ำ
  • การเลิกกิจการทำได้ง่ายและเสียหายน้อย
  • สามารถขนส่งผู้โดยสารแต่ละครั้งในปริมาณน้อย
  • ต้นทุนระยะไกลสูง
  • เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • เครื่องมือและอุปกรณ์ล้าสมัยได้ง่าย
ประวัติรถลาก
     รถลากในประเทศไทยหรือที่เรียกว่า รถเจ๊ก เพราะพาหนะประเภทนี้มีแต่คนจีนเป็นผู้มีอาชีพรับจ้างลาก ดั้งเดิมเป็นของญี่ปุ่น แต่แรกเมื่อในรัชกาลที่ 4 นั้น พวกพ่อค้าสำเภานำมาน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดเกล้าใ้หซื้อเข้ามาพระราชทานเจ้านาย และขุนนางผู้ใหญ่บ้าง สั่งซื้อกันเองบ้าง ใช้เป็นพาหนะ่ส่วนพระองค์และส่วนตัว แต่ที่สั่งซื้อมาใช้วิ่งรับส่งคนโดยสารและบรรทุกของนั้น ผู้สั่งเข้ามาเป็นคนแรกชื่อ นายฮ่องเชียง แซ่โหงว เมื่อ พ.ศ.2417 ต้นรัชกาลที่ 5 เมื่อผู้คนนิยมกันมากขึ้น พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก) จึงตั้งโรงงานทำรถลากขึ้นในเมืองไทยเสียเอง โดยสั่งช่างมาจากเมืองจีน รถลากรับจ้างเริ่มมีบนถนนมากขึ้น จนกระทั่งจำเป็นต้องควบคุม พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติรถลาก ร.ศ.120 พ.ศ.2444 ขึ้น พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ให้ต้องจดทะเบียนรถ และต้องนำรถมาตรวจสภาพต่อเจ้าพนักงานจดทะเบียนหลังจดทะเบียนแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้เลขหมายติดรถ และให้เครื่องหมายที่มีเลขตรงกันกับทะเบียนรถให้คนลากติดหน้า้อกไว้ให้ตรงกัน รถลากหรือรถเจ๊กนี้วิ่งในถนนตั้งแต่ พ.ศ.2417 เลิกใช้ตามกฏหมาย เมื่อ พ.ศ.2478 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

คำจำกัดความรถโดยสาร 
  • รถโดยสารประจำทาง หมายถึง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่กำหนด
  • รถโดยสารไม่ประจำทาง หมายถึง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง
  • รถโดยสารส่วนบุคคล หมายถึง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารเพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเองซึ่งบรรทุกผู้โดยสารได้ตั้งแต่ 2 ที่นั่งขึ้นไป และมีนำ้หนักรถเกินกว่า 1,600 กิโลกรัมขึ้นไป
  • รถขนาดเล็ก หมายถึง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารหรือสิ่งของเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่กำหนด ด้วยรถที่มีน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม
ลักษณะรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร  
     ลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร แบ่งออกเป็น 7 มาตรฐาน ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 พ.ศ.2524 ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ดังนี้
มาตรฐาน 1 คือ รถปรับอากาศพิเศษ
มาตรฐาน 2 คือ รถปรับอากาศ
มาตรฐาน 3 คือ รถที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ
มาตรฐาน 4 คือ รถสองชั้น
มาตรฐาน 5 คือ รถพ่วง
มาตรฐาน 6 คือ รถกึ่งพ่วง
มาตรฐาน 7 คือ รถโดยสารเฉพาะกิจ

     มาตรฐาน 1 รถปรับอากาศพิเศษ
  • มีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่ม
  • มีที่เก็บสัมภาระ อุปกรณ์ให้เสียง และประชาสัมพันธ์
  • มีห้องสุขภัณฑ์


รถปรับอากาศพิเศษ
     มาตรฐาน 2 รถปรับอากาศ
  • มีที่นั่งผู้โดยสารเกิน 30 ที่นั่ง
  • มีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่ม
  • มีที่เก็บสัมภาระ อุปกรณ์ให้เสียง และประชาสัมพันธ์
  • ไม่มีห้องสุขภัณฑ์
รถปรับอากาศ
     มาตรฐาน 3 รถที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ
  • มีที่นั่งผู้โดยสารเกิน 30 ที่นั่ง
  • ไม่มีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่ม
  • ไม่มีห้องสุขภัณฑ์ และที่เก็บสัมภาระ


รถไม่มีเครื่องปรับอากาศ
     มาตรฐาน 4 รถสองชั้นปรับอากาศ
  • มีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่ม
  • มีห้องสุขภัณฑ์
  • มีอุปกรณ์ให้เสียงประชาสัมพันธ์
รถสองชั้นปรับอากาศ
     มาตรฐาน 5 รถพ่วงปรับอากาศ
  • ที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มมีหรือไม่มีก็ได้
  • อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์มีหรือไม่มีก็ได้
  • ที่เก็บสัมภาระและห้องสุขภัณฑ์มีหรือไม่มีก็ได้
รถพ่วงปรับอากาศ
     มาตรฐาน 6 รถกึ่งพ่วงปรับอากาศ
  • ที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มมีหรือไม่มีก็ได้
  • อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์มีหรือไม่มีก็ได้
  • ที่เก็บสัมภาระและห้องสุขภัณฑ์มีหรือไม่มีก็ได้
รถกึ่งพ่วงปรับอากาศ
     มาตรฐาน 7 รถโดยสารเฉพาะกิจ
  • มีลักษณะพิเศษเพื่อใช้ในกิจการใดกิจการหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น รถพยาบาล รถถ่ายทอดวิทยุหรือโทรทัศน์ รถบริการไปรษณีย์ รถบริการธนาคาร เป็นต้น
รถโดยสารเฉพาะกิจ
     ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การขนส่งผู้โดยสารทางรถยนต์มีวิวัฒนาการมาจากการเดินเท้าและการใช้สัตว์เป็นพาหนะเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ต่อมามีการประดิษฐ์รถยนต์โดยสารที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในทำให้การเดินทางท่องเที่ยวได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น



อ้างอิง
www.mt.buu.ac.th
http://www.thaitransport-photo.net/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=113
http://nakhonsawan.dlt.go.th/new/index.php?option=com_content&view=article&id=84&Itemid=183&limitstart=3


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น